วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

การใช้กวีโวหาร

                การใช้กวีโวหาร หรือ โวหารภาพพจน์  คือ การพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูดและเขียนให้แปลกออกไปจากที่ใช้อยู่เป็นปกติ ก่อให้เกิดจินตภาพ  มีรสกระทบใจ   ความรู้สึกและอารมณ์ ต่างกับการใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา  การใช้โวหารภาพพจน์มีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้
๑.    อุปมา
อุปมา  หมายถึง การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบด้วยวิธีนี้จะมีคำแสดงความหมายว่า “เหมือน”ปรากฏอยู่ด้วย  เช่น  เหมือน  เสมือน  ดุจ  ประดุจ  ดัง  เพียง  คล้าย  ปูน  ราว  ฯลฯ
ตัวอย่าง
·       ผิวขาวดังสำลี              หน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
·            เสร็จเสวยศวรรเยศอ้าง          ไอศูรย์  สรวงฤา
เย็นพระยศปูนเดือน                 เด่นฟ้า
เกษมสุขส่องสมบูรณ์                  บานทวีป
สว่างทุกข์ทุกธเรศหล้า               แหล่งล้วนสรรเสริญ
                            (ลิลิตตะเลงพ่าย)
·            ไม้เรียกผกากุพ                        ชกะสีอรุณแสง
ปานแก้มแฉล้มแดง                  ดรุณี  ณ ยามอาย
                                                        (มัทนะพาธา)
๒.   อุปลักษณ์
อุปลักษณ์  หมายถึง   การเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง คล้ายกับการเปรียบเทียบแบบอุปมา แต่ไม่มีคำว่า เหมือน หรือ คำอื่นที่มีความหมายนัยเดียวกันปรากฏอยู่
        เขากินเหมือนหมู   (อุปมา)                เขาเป็นหมู    (อุปลักษณ์)
        ประโยคแรก จะนึกถึงท่าทางการกินว่าเหมือนหมู  แต่ประโยคหลัง อาจจะรู้สึกหยั่งลึกนอกจากการกิน แล้วอาจจะนึกถึงลักษณะท่าทางการเดินต้วมเตี้ยมเหมือนหมู   อ้วนเหมือนหมู  ขาสั้นเหมือนหมู  ฯลฯ
        การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์ยังสามารถใช้คำหรือข้อความที่ต้องการเปรียบเทียบแทนได้
ตัวอย่าง
·       ดวงตาสวรรค์ส่งแสงระยับระยับในท้องฟ้า”  (ดวงตาสวรรค์  หมายถึงดวงดาว)
·       อย่ามายกแม่น้ำทั้งห้าเลย  ฉันไม่เคลิ้มไปตามคุณหรอก (ยกแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง  พูดจาหว่านล้อม)
·       พ่อตายคือฉัตรกั้ง                        หายหัก
แม่ดับดุจรถจักร                            จากด้วย
ลูกตายบ่วายรัก                             แรงร่ำ
เมียนิ่งตายวายม้วย                       มืดคลุ้มแดนไตร
                                                        (โคลงโลกนิติ)
ข้อความ ฉัตรกั้ง   หายหัก  เป็นการเปรียบเทียบโดยปริยาย  หมายถึง ผู้ที่คุ้มครองให้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้สูญสลายไปแล้ว  พ่อเป็นดุจฉัตรและความตายของพ่อเป็นดุจฉัตรหัก
๓.    บุคคลวัต  หรือ บุคคลสมมุติ
บุคคลวัต  หรือ บุคคลสมมุติ  หมายถึง  การเปรียบเทียบด้วยการสมมุติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  ซึ่งมิใช่คนแสดงกิริยาอาการ  อารมณ์  หรือความรู้สึกนึกคิดเหมือนคน  เช่น  ให้พืช  สัตว์  สิ่งของ พูดภาษาคนได้ จินตนาการเห็นภาพพจน์และความรู้สึกคล้อยตาม
ตัวอย่าง
·       “ เนื่องจากฉันมีโอ่งเพียงไม่กี่ใบ  ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักทีไร โอ่งที่บ้านฉันเป็นต้องสำลักน้ำทุกที ”
·       “พระอาทิตย์โบกมืออำลาฉันด้วยท่าทางรีบร้อน ในขณะที่ดวงจันทร์วันเพ็ญ   ค่อย ๆ กรีดกรายมาโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้าสีครามเข้ม”
·       “ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง”
·            น้ำเซาะหินรินหลากไหล                   ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินหาย
สรรพสัตว์พอฟื้นก็วอดวาย                       สลายซากเป็นกากผงธุลี”
๔.    อธิพจน์
อธิพจน์  หมายถึง การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง  เป็นการกล่าวเกินจริง  โดยมีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น  ให้ความรู้สึกเพิ่มขึ้น
ตัวอย่าง
·       “เสียงเท่าฟ้าหน้าเท่ากลอง”                      “ตัวโตราวกับตึก”
“ร้อนแทบสุก”                                             “เหนื่อยสายตัวแทบขาด”
·       มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว
·       “การค้นหาจนแทบพลิกแผ่นดิน  เน้นให้เห็นถึงความพยายามและแสวงหาจนพบแม้จะมีความลำบากยากเย็น หรือมีอุปสรรคเพียงใดก็ตาม”




·             “เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม                            ถึงพรหม
พาหมู่สัตว์จ่อมจม                                        ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                                ทบท่าว  ลงนา
หากอกนิษฐ์พรหมฉ้วย                              พี่ไว้จึ่งคง”      (ตำนานศรีปราชญ์)                                 
๕.    อวพจน์
อวพจน์ หมายถึง การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง เป็นการกล่าวเกินจริง  โดยมีเจตนาเน้นข้อความน้อยกว่าจริง
ตัวอย่าง
·       “คอยสักอึดใจเดียว”
·       “มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว”
·       “จะเป็นความถามไถ่ในบุริน                     เงินเท่าปีกริ้นก็ไม่มี”
๖.      นามนัย
นามนัย  หมายถึง  การใช้ชื่อส่วนประกอบที่เด่นของสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นทั้งหมด  ส่วนประกอบดังกล่าวกับสิ่งนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
ตัวอย่าง
·       “ว่านครรามินทร์  ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชย์  เยียววิวาทชิงฉัตร เพื่อกษัตริย์สองสู้  บ่ร้างรู้เหตุผล  ควรยาตรพลไปเยือน”                          (ลิลิตตะเลงพ่าย)
“ฉัตร”   หมายถึง  ราชบัลลังก์  คือเป็นเป็นกษัตริย์
·       เก้าอี้นายกสมาคมกำลังคลอนแคลน”
“เก้าอี้” หมายถึง ตำแหน่ง
·       “การทำงานชิ้นนี้เป็นภาระสำคัญต้องระดมสมองระดับหัวกะทิ”
“สมอง”  หมายถึง  ผู้มีกำลังความคิด  มีสติปัญญาสูง  มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ
๗.    สัญลักษณ์
สัญลักษณ์  หมายถึง การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง (คำแทน)  ที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะภาวะบางอย่างร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนส่วนใหญ่
ตัวอย่าง
·       พระเกี้ยว                       แทน       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
·       ดอกมะลิ                        แทน       ความบริสุทธิ์   ความชื่นใจ
·       ดอกกุหลาบ                  แทน       ความรักของหนุ่มสาว
·       นกพิราบ                       แทน       สันติภาพ
·       ตาชั่ง                              แทน       ความเที่ยงธรรม
·       เรือจ้าง                           แทน       ครู
·       แสงเทียน                      แทน       ความหวัง
·       สุนัขจิ้งจอก                   แทน       คนเจ้าเล่ห์    คนที่ไม่น่าไว้วางใจ
๘.    สัทพจน์
สัทพจน์  หมายถึง การเลียนเสียงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดภาพชัดเจน
ตัวอย่าง
·              “บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว                        สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                                               ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต”
                                                                                        (พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่)
·             “ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด                     ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว                                        แพใบไล้น้ำลำคลอง”
                                                        (บนพรมไม้ไผ่ ในคำหยาด ของเนาวรัตน์      พงษ์ไพบูลย์)
๙.     ปฏิพจน์
ปฏิพจน์  หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่ความหมายตรงข้ามกันหรือขัดแย้งกัน มากล่าวอย่างกลมกลืนกัน ภาพพจน์ประเภทนี้ต้องวิเคราะห์ความหมายให้ลึกลงไปจึงจะเข้าใจ เพราะมักจะกล่าวในเชิงปรัญญา
ตัวอย่าง
·       รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
·       เสียน้อยเสียยาก  เสียมากเสียง่าย
·       ถี่ลอดตัวช้าง  ห่างลอดตัวเล็น
·       เสียงกระซิบแห่งความเงียบ   
๑๐. ไวพจน์
ไวพจน์  หมายถึง  คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน
ตัวอย่าง
·       ดอกไม้           มาลี         ผกา         บุปผชาติ                บุหงา
·       ป่า                   พนา       วนา        ไพรสณฑ์              พนาสัณฑ์
·       น้ำ                   วารี         สาชล     ชโลทร                   ชลาลัย
·       ช้าง                 กรี           หัสดี       สาร                         วรินทร์
·       ม้า                   หัย          แสะ        ดุรงค์                      อาชา
·       ใจ                    มน          ฤทัย        หทัย                       ดวงกมล
·       งาม โสภา      วิลาส      เสาวลักษณ์           เสาวภา
๑๑.  สมญานาม
สาญานาม  หมายถึง  การตั้งชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับลักษณะของสิ่งที่ต้องการสื่อ การเลือกสรรคำ  หรือกลุ่มคำที่เหมาะสมเพื่อนำสิ่งที่ต้องการสื่อ  การตั้งสมญานามมักจะเป็นการสื่อคำที่รับรู้กันเฉพาะคนในกลุ่ม
ตัวอย่าง
·       โรเบอร์โต้  อูปาร์เต้  นักเตะเมืองกระทิงดุลงสนามแข่งขันเมื่อเย็นวาน
·       ไอ้แสบเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์
·       พระปิยมหาราช ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย
เมืองกระทิงดุ   ไอ้แสบ    พระปิยมหาราช  เป็นโวหารภาพพจน์ประเภทสมญานาม

การเรียบเรียง

๑. เรียงข้อความที่บรรจุสารสำคัญไว้ท้ายสุด 

           "แม้ฉันจะจน แต่ฉันก็ไม่เคย ขอใครกิน"



๒.  เรียงคำ  วลี หรือประโยคที่มีความสำคัญเท่าๆ กัน   

           "รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน
             และเพื่อประชาชน เท่านั้นที่ทุกคนปรารถนา"



๓.เรียงประโยคให้เนื้อหาเข้มข้นขึ้นไปตามลำดับ ดุจขั้นบันได จนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุด         
   "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น  สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ
           สิบมือคลำไม่เท่าชำนาญ"



๔.เรียงประโยคให้เนื้อหาเข้มข้นขึ้นไปตามลำดับแต่คลายความเข้มข้นลงในช่วงสุดท้ายอย่างฉับพลัน


๕.เรียงถ้อยคำให้เป็นประโยคคำถามเชิงวาทศิลป์              
" อันท้าวดาหาธิบดีนั้นมิใช่อาหรือว่าไร"
              "ใครบ้างไม่อยากเป็นไทย" 

การสรรคำ

        ผู้ส่งสารจะต้องสรรคำให้ตรงตามที่ต้องการ เหมาะแก่บริบท เนื้อเรื่อง และฐานะของบุคคลในเรื่องโวหารและรูปแบบคำประพันธ์ นอกจากนี้ยังต้องสรรคำโดยคำนึงถึงความงามด้านเสียงด้วยดังนี้

๑. การเลือกใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น

“วิไลเตรียมอาหารกลางวัน เธอตัดผักคะน้าเป็นท่อนยาวๆ หั่นเนื้อหมูเป็นชิ้นๆ แล้ว
บดจนละเอียด แล่เนื้อวัวเป็นแผ่นบางๆ และซอยกระเทียมเป็นชิ้นเล็กๆ”


๒. เลือกใช้คำที่เหมาะสมแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่อง ตัวอย่างเช่น

“ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี   เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์           มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะองยาวก้าวตีนปีนทะยาน                  กระบอกตาลแขวนก้นคนละพวง”
(นิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่)

        ผู้ประพันธ์เลือกสรรคำใช้ได้เหมาะสมแก่เรื่อง ซึ่งเกี่ยวกับการประกอบอาชีพทำน้ำตาลโตนดของคนเมืองเพชร ทำให้ผู้อ่านที่ไม่เคยเห็นนึกภาพได้อย่างชัดเจน


๓. เลือกใช้คำให้เหมาะสมแก่ลักษณะของคำประพันธ์ คำจำนวนมากใช้ได้ทั้งในร้อยแก้ว และร้อยกรอง แต่คำบางคำใช้เฉพาะแต่ในคำประพันธ์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น

        “เพรางายวายเสพรส                        แสนกำสรดอดโอชา
อิ่มทุกข์อิ่มชลนา                               อิ่มโศกาหน้านองชล”
(กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)


. เลือกใช้คำไวพจน์ให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ “คำไวพจน์” หมายถึง
คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน คำที่เป็นไวพจน์ของกันนั้น หลายคำไม่อาจใช้แทนกันได้เสมอไป เช่น

“มืดสิ้นแสงเทียนประทีปส่อง                      ก็ผ่องแสงจันทร์กระจ่างสว่างส่ง
บุปผชาติสาดเกสรขจรลง                    บุษบงเบิกแบ่งระบัดบาน
เรณูนวลหวนหอมมารวยริน                   พระพายพัดประทิ่นกลิ่นหวาน
เฉื่อยฉิวปลิวรสสุมามาลย์                        ประสานสอดกอดหลับระงับไป”


. เลือกใช้คำโดยคำนึงถึงเสียง

      ๕.๑ คำเลียนเสียงธรรมชาติ คำเลียนเสียงธรรมชาติในบทประพันธ์ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนและเกิดความรู้สึกคล้อยตาม เช่น
                
“กลองทองตีครุ่มครึ้ม                    เดินเรียง
        ท้าตะเติงเติงเสียง                              ครุ่มครื้น
เสียงปี่รี่เรื่อยเพียง                          การเวก
แตร้นแตร่นแตรฝรั่งขึ้น                          หวู่หวู้เสียงสังข์”
(กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
        
เป็นคำเลียนเสียงกลอง เสียงแตร และเสียงสังข์

              
     ๕.๒ คำที่เล่นวรรณยุกต์ เช่น

                “ฝูงลิงใหญ่น้อยกระจุ้ย                  ชะนีอุ่ยอุ้ยร้องหา
ฝูงค่างหว่างพฤกษา                               ค่างโจนไล่ไขว่ปลายยาง”
(กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)


     ๕.๓ คำที่เล่นเสียงสัมผัส คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบพูดจาให้คล้องจองกันดังจะเห็นได้จากสำนวน พังเพย สุภาษิต ชื่อเฉพาะ คำขวัญ ที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน เช่น

สำนวน พังเพย สุภาษิต
- กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง                 -กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
- ข้าวยากหมากแพง                                - ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา
- จับดำถลำแดง                                   - เจ้าชู้ไก่แจ้
- ผัวเมียผิดกันอย่าพ้อง พี่น้องผิดกันอย่าพลอย   -หูป่าตาเถื่อน

ชื่อเฉพาะ
- มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์กร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ (ชื่อแบบเรียน 6เล่ม ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร))
- เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร

คำขวัญ
- เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
- สะอาดกายเจริญวัย สะอาดใจเจริญสุข
- เมตตาเป็นทุน เกื้อหนุนชุมชน
- มั่นคงด้วยรากฐาน บริการด้วยน้ำใจ

             
    ๕.๔ คำที่เล่นเสียงหนักเบา เพื่อให้บทร้อยแก้วหรือบทร้อยกรองฟังไพเราะ กวีมักใช้เสียงหนักเบาและจังหวะอันเกิดจากวิธีอ่าน ทำให้เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของกวีบทนั้นๆ
            บทร้อยกรองประเภทฉันท์ที่กำหนดเสียงหนักเบาได้แก่ คำครุและคำลหุ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คำที่พิมพ์ตัวหนาเป็นคำลหุ

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
                โขดเขินศิขรเขา                          ณ ลำเนาพนาลัย
สูงลิ่วละลานนั-                                         ยนพ้นประมาณหมาย
ยอดมัวสลัวเมฆ                           รุจิเรขเรียงราย
เลื่อมเลื่อมศิลาลาย                             ก็สลับระยับสี
                                                 (อิลราชคำฉันท์ ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร(ผัน))


“ทันใดนั้นเอง หล่อนก็หยุดเมื่อถึงฝั่งลำธาร บรรดาเงาต่างก็พลอยหยุดไปด้วย นอกจากเงาเดียวซึ่งทาบอยู่หลังเสาไฟในระหว่างหล่อนกับข้าพเจ้า เงานั้นคงเคลื่อนต่อไป ผลุบๆ โผล่ๆ เหมือนลูกมะพร้าวที่ลอยอยู่กลางกระแสน้ำหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มุ่งเข้าหาเหยื่อ ใกล้เข้าไปเข้าไปเป็นลำดับ ข้าพเจ้าได้แต่จับตาดูอย่างแทบกลั้นหายใจราวกับถูกมนต์สะกดขยับเขยื้อนเคลื่อนอิริยาบทไม่ได้ไปชั่วขณะหนึ่ง”
(ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์)

        ผู้อ่านเป็นจะรู้จักทอดเสียง เน้นเสียงหนัก และผ่อนเสียงเบาที่คำบางคำ ข้อความที่มีลักษณะเป็นพรรณนาโวหารเช่นนี้ ถ้าผู้อ่านใช้ศิลปะของการอ่านช่วยก็จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงรสไพเราะของเนื้อความได้ ดังที่นักแสดงวิทยุอ่านนิทาน นิยาย ทางวิทยุกระจายเสียง


๖. เลือกคำโดยคำนึงถึงคำพ้องเสียงและคำซ้ำ เมื่อนำคำพ้องเสียงมาเรียบเรียงหรือร้อยกรองเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดเสียงไพเราะ เพิ่มความพิศวง น่าฟัง หากใช้ในบทพรรณนาหรือบทคร่ำครวญยิ่งทำให้สะเทือนอารมณ์

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง                    ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                              ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย                                         วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                               หยุดได้ฉันใด
(ลิลิตตะเลงพ่าย ของ สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
หัวลิงหมากเรียกไม้                      ลางลิง
ลางลิงหูลิงลิง                                  หลอกชู้
ลิงไต่กะไดลิง                                   ลิงห่ม
ลิงโลดฉวยชมผู้                                  ฉีกคว้าประสาลิง
(กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)

การใช้ภาษาให้งดงาม

ภาษาที่กวีใช้เพื่อสร้างสรรค์ความงามให้แก่บทร้อยแก้วหรือบทร้อยกรองนั้น มีหลักสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกัน 3 ข้อ คือ         
        ๑. การเลือกสรรคำให้สื่อความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึก อารมณ์ ได้อย่างงดงามตรงตามที่ผู้พูดหรือผู้เขียนมีอยู่จริง เรียกว่า การสรรคำ

        ๒. การจัดวางคำที่เลือกสรรแล้วนั้นให้ต่อเนื่องเป็นลำดับ ร้อยเรียงกันอย่างไพเราะ  เหมาะสม ถูกต้องตามโครงสร้างของภาษา และได้จังหวะ ในกรณีที่เป็นบทร้อยกรองจะต้องถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ด้วย เรียกว่า การเรียบเรียงคำ

        ๓. การพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูดและเขียนให้แปลกออกไปจากที่เป็นอยู่ปกติ ซึ่งจะก่อให้เกิดรสกระทบใจ ความรู้สึกและอารมณ์ตรงกับภาษาที่ใช้อย่างตรงไปตรงมา เรียกว่า การใช้โวหาร