วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

การใช้กวีโวหาร

                การใช้กวีโวหาร หรือ โวหารภาพพจน์  คือ การพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูดและเขียนให้แปลกออกไปจากที่ใช้อยู่เป็นปกติ ก่อให้เกิดจินตภาพ  มีรสกระทบใจ   ความรู้สึกและอารมณ์ ต่างกับการใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา  การใช้โวหารภาพพจน์มีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้
๑.    อุปมา
อุปมา  หมายถึง การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบด้วยวิธีนี้จะมีคำแสดงความหมายว่า “เหมือน”ปรากฏอยู่ด้วย  เช่น  เหมือน  เสมือน  ดุจ  ประดุจ  ดัง  เพียง  คล้าย  ปูน  ราว  ฯลฯ
ตัวอย่าง
·       ผิวขาวดังสำลี              หน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
·            เสร็จเสวยศวรรเยศอ้าง          ไอศูรย์  สรวงฤา
เย็นพระยศปูนเดือน                 เด่นฟ้า
เกษมสุขส่องสมบูรณ์                  บานทวีป
สว่างทุกข์ทุกธเรศหล้า               แหล่งล้วนสรรเสริญ
                            (ลิลิตตะเลงพ่าย)
·            ไม้เรียกผกากุพ                        ชกะสีอรุณแสง
ปานแก้มแฉล้มแดง                  ดรุณี  ณ ยามอาย
                                                        (มัทนะพาธา)
๒.   อุปลักษณ์
อุปลักษณ์  หมายถึง   การเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง คล้ายกับการเปรียบเทียบแบบอุปมา แต่ไม่มีคำว่า เหมือน หรือ คำอื่นที่มีความหมายนัยเดียวกันปรากฏอยู่
        เขากินเหมือนหมู   (อุปมา)                เขาเป็นหมู    (อุปลักษณ์)
        ประโยคแรก จะนึกถึงท่าทางการกินว่าเหมือนหมู  แต่ประโยคหลัง อาจจะรู้สึกหยั่งลึกนอกจากการกิน แล้วอาจจะนึกถึงลักษณะท่าทางการเดินต้วมเตี้ยมเหมือนหมู   อ้วนเหมือนหมู  ขาสั้นเหมือนหมู  ฯลฯ
        การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์ยังสามารถใช้คำหรือข้อความที่ต้องการเปรียบเทียบแทนได้
ตัวอย่าง
·       ดวงตาสวรรค์ส่งแสงระยับระยับในท้องฟ้า”  (ดวงตาสวรรค์  หมายถึงดวงดาว)
·       อย่ามายกแม่น้ำทั้งห้าเลย  ฉันไม่เคลิ้มไปตามคุณหรอก (ยกแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง  พูดจาหว่านล้อม)
·       พ่อตายคือฉัตรกั้ง                        หายหัก
แม่ดับดุจรถจักร                            จากด้วย
ลูกตายบ่วายรัก                             แรงร่ำ
เมียนิ่งตายวายม้วย                       มืดคลุ้มแดนไตร
                                                        (โคลงโลกนิติ)
ข้อความ ฉัตรกั้ง   หายหัก  เป็นการเปรียบเทียบโดยปริยาย  หมายถึง ผู้ที่คุ้มครองให้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้สูญสลายไปแล้ว  พ่อเป็นดุจฉัตรและความตายของพ่อเป็นดุจฉัตรหัก
๓.    บุคคลวัต  หรือ บุคคลสมมุติ
บุคคลวัต  หรือ บุคคลสมมุติ  หมายถึง  การเปรียบเทียบด้วยการสมมุติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  ซึ่งมิใช่คนแสดงกิริยาอาการ  อารมณ์  หรือความรู้สึกนึกคิดเหมือนคน  เช่น  ให้พืช  สัตว์  สิ่งของ พูดภาษาคนได้ จินตนาการเห็นภาพพจน์และความรู้สึกคล้อยตาม
ตัวอย่าง
·       “ เนื่องจากฉันมีโอ่งเพียงไม่กี่ใบ  ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักทีไร โอ่งที่บ้านฉันเป็นต้องสำลักน้ำทุกที ”
·       “พระอาทิตย์โบกมืออำลาฉันด้วยท่าทางรีบร้อน ในขณะที่ดวงจันทร์วันเพ็ญ   ค่อย ๆ กรีดกรายมาโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้าสีครามเข้ม”
·       “ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง”
·            น้ำเซาะหินรินหลากไหล                   ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินหาย
สรรพสัตว์พอฟื้นก็วอดวาย                       สลายซากเป็นกากผงธุลี”
๔.    อธิพจน์
อธิพจน์  หมายถึง การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง  เป็นการกล่าวเกินจริง  โดยมีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น  ให้ความรู้สึกเพิ่มขึ้น
ตัวอย่าง
·       “เสียงเท่าฟ้าหน้าเท่ากลอง”                      “ตัวโตราวกับตึก”
“ร้อนแทบสุก”                                             “เหนื่อยสายตัวแทบขาด”
·       มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว
·       “การค้นหาจนแทบพลิกแผ่นดิน  เน้นให้เห็นถึงความพยายามและแสวงหาจนพบแม้จะมีความลำบากยากเย็น หรือมีอุปสรรคเพียงใดก็ตาม”




·             “เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม                            ถึงพรหม
พาหมู่สัตว์จ่อมจม                                        ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                                ทบท่าว  ลงนา
หากอกนิษฐ์พรหมฉ้วย                              พี่ไว้จึ่งคง”      (ตำนานศรีปราชญ์)                                 
๕.    อวพจน์
อวพจน์ หมายถึง การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง เป็นการกล่าวเกินจริง  โดยมีเจตนาเน้นข้อความน้อยกว่าจริง
ตัวอย่าง
·       “คอยสักอึดใจเดียว”
·       “มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว”
·       “จะเป็นความถามไถ่ในบุริน                     เงินเท่าปีกริ้นก็ไม่มี”
๖.      นามนัย
นามนัย  หมายถึง  การใช้ชื่อส่วนประกอบที่เด่นของสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นทั้งหมด  ส่วนประกอบดังกล่าวกับสิ่งนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
ตัวอย่าง
·       “ว่านครรามินทร์  ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชย์  เยียววิวาทชิงฉัตร เพื่อกษัตริย์สองสู้  บ่ร้างรู้เหตุผล  ควรยาตรพลไปเยือน”                          (ลิลิตตะเลงพ่าย)
“ฉัตร”   หมายถึง  ราชบัลลังก์  คือเป็นเป็นกษัตริย์
·       เก้าอี้นายกสมาคมกำลังคลอนแคลน”
“เก้าอี้” หมายถึง ตำแหน่ง
·       “การทำงานชิ้นนี้เป็นภาระสำคัญต้องระดมสมองระดับหัวกะทิ”
“สมอง”  หมายถึง  ผู้มีกำลังความคิด  มีสติปัญญาสูง  มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ
๗.    สัญลักษณ์
สัญลักษณ์  หมายถึง การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง (คำแทน)  ที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะภาวะบางอย่างร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนส่วนใหญ่
ตัวอย่าง
·       พระเกี้ยว                       แทน       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
·       ดอกมะลิ                        แทน       ความบริสุทธิ์   ความชื่นใจ
·       ดอกกุหลาบ                  แทน       ความรักของหนุ่มสาว
·       นกพิราบ                       แทน       สันติภาพ
·       ตาชั่ง                              แทน       ความเที่ยงธรรม
·       เรือจ้าง                           แทน       ครู
·       แสงเทียน                      แทน       ความหวัง
·       สุนัขจิ้งจอก                   แทน       คนเจ้าเล่ห์    คนที่ไม่น่าไว้วางใจ
๘.    สัทพจน์
สัทพจน์  หมายถึง การเลียนเสียงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดภาพชัดเจน
ตัวอย่าง
·              “บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว                        สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                                               ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต”
                                                                                        (พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่)
·             “ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด                     ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว                                        แพใบไล้น้ำลำคลอง”
                                                        (บนพรมไม้ไผ่ ในคำหยาด ของเนาวรัตน์      พงษ์ไพบูลย์)
๙.     ปฏิพจน์
ปฏิพจน์  หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่ความหมายตรงข้ามกันหรือขัดแย้งกัน มากล่าวอย่างกลมกลืนกัน ภาพพจน์ประเภทนี้ต้องวิเคราะห์ความหมายให้ลึกลงไปจึงจะเข้าใจ เพราะมักจะกล่าวในเชิงปรัญญา
ตัวอย่าง
·       รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
·       เสียน้อยเสียยาก  เสียมากเสียง่าย
·       ถี่ลอดตัวช้าง  ห่างลอดตัวเล็น
·       เสียงกระซิบแห่งความเงียบ   
๑๐. ไวพจน์
ไวพจน์  หมายถึง  คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน
ตัวอย่าง
·       ดอกไม้           มาลี         ผกา         บุปผชาติ                บุหงา
·       ป่า                   พนา       วนา        ไพรสณฑ์              พนาสัณฑ์
·       น้ำ                   วารี         สาชล     ชโลทร                   ชลาลัย
·       ช้าง                 กรี           หัสดี       สาร                         วรินทร์
·       ม้า                   หัย          แสะ        ดุรงค์                      อาชา
·       ใจ                    มน          ฤทัย        หทัย                       ดวงกมล
·       งาม โสภา      วิลาส      เสาวลักษณ์           เสาวภา
๑๑.  สมญานาม
สาญานาม  หมายถึง  การตั้งชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับลักษณะของสิ่งที่ต้องการสื่อ การเลือกสรรคำ  หรือกลุ่มคำที่เหมาะสมเพื่อนำสิ่งที่ต้องการสื่อ  การตั้งสมญานามมักจะเป็นการสื่อคำที่รับรู้กันเฉพาะคนในกลุ่ม
ตัวอย่าง
·       โรเบอร์โต้  อูปาร์เต้  นักเตะเมืองกระทิงดุลงสนามแข่งขันเมื่อเย็นวาน
·       ไอ้แสบเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์
·       พระปิยมหาราช ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย
เมืองกระทิงดุ   ไอ้แสบ    พระปิยมหาราช  เป็นโวหารภาพพจน์ประเภทสมญานาม

8 ความคิดเห็น: